สำหรับหลายคน การเขียนคือศิลปะ คืองานสำหรับคนที่มีพรสวรรค์ หากยิ่งนึกไปถึงงานเขียนนวนิยาย ก็ยิ่งจะเพิ่มความเป็นศิลปินให้กับผู้เขียนเข้าไปอีก
แต่ความเป็นจริงแล้ว การเขียนคือหนึ่งในวิธีการสื่อสารที่สามารถทำได้ทุกคน และแน่นอนไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารประเภทไหน พูด อ่าน หรือ เขียน ล้วนมีผลต่อความคิด ความรู้สึก ความเข้าใจของผู้รับสารทั้งสิ้น
นักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ด้วยการสแกนสมองของคนที่อ่านหนังสือแล้วพบว่า ตัวอักษรนั้นมีผลต่อความคิดทางสมอง หากผู้อ่านได้อ่านเนื้อหาที่โดนใจ สมองจะหลั่งโดพามีนในส่วนที่เรียกว่า “Reward Circuit”
ซึ่งหมายความว่า การอ่านบทความเนื้อหาดี ๆ นั้น มีผลเทียบเท่ากับการได้ทานอาหารดี ๆ ได้นอนหลับสบาย หรือการได้โอบกอด
ดังนั้นเรามาดูกันว่า การเขียนในมุมของวิทยาศาสตร์นั้น มีผลต่อความคิดของมนุษย์อย่างไร เพื่อให้เราสามารถนำไปปรับการสื่อสารของเราได้ดีขึ้น ให้คนสนใจมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น โน้มน้าวได้ดีขึ้น ซึ่งมีทั้งหมด 8 ข้อดังนี้..
สำหรับคนที่ถนัดฟังมากกว่าอ่าน สามารถกดฟังได้จาก CREATIVE TALK Podcast “จิตวิทยาและการเขียนเกี่ยวข้องกันอย่างไร”
ตอนที่ 1: Apple Podcast | Google Podcast | SoundCloud | Podbean หรือชม LIVE ย้อนหลังได้ที่ Facebook LIVE และ YouTube
ตอนที่ 2: Apple Podcast | Google Podcast | SoundCloud | Podbean หรือชม LIVE ย้อนหลังได้ที่ Facebook LIVE และ YouTube
ความเรียบง่าย (Simplicity)
ความเรียบง่ายคือหนึ่งในหัวใจสำคัญของการเขียนที่มีประสิทธิภาพ เพราะความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนจะทำให้คนสามารถเรียนรู้ได้ไว เข้าใจได้ไว ยกตัวอย่างประโยค หากคุณเขียนว่า “กำไรคือสิ่งที่นักลงทุนทุกคนต้องการ” กับ “นักลงทุนทุกคนต้องการกำไร” จะสังเกตว่าประโยคที่สองนั้นเรียบง่ายกว่าและเข้าใจได้ไวกว่ามาก
Andrey Kolmogorov นักคณิตศาสตร์ขาวรัสเซียได้พิสูจน์ไว้เมื่อหลายปีก่อนว่า ความเรียบง่ายนั้นมีผลทำให้คนสามารถมองเห็นแพทเทิร์นง่าย ๆ จะนำมาซึ่งความเข้าใจที่รวดเร็ว และการตัดสินใจที่รวดเร็วตามมาด้วย
ความเฉพาะเจาะจง (Specificity)
แม้ว่าเราจะพูดถึงความเรียบง่ายในการเขียน แต่ทุกอย่างก็ต้องลงรายละเอียด เช่น หากคุณเขียนว่า “วันนี้มีนกมาเกาะที่รั้วบ้าน” คนอ่านก็สามารถเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง แต่หากคุณเขียนลงรายละเอียดเข้าไปว่า “วันนี้มีนกอินทรีย์มาเกาะหน้าบ้าน” การลงรายละเอียดจะเข้าถึงจินตนาการของผู้อ่าน ทำให้พวกเขานึกภาพออก จากเดิมที่แต่ละคนอาจจะคิดต่างกัน คนหนึ่งอาจจะคิดถึงนกกระจอก อีกคนอาจจะคิดถึงนกพิราบ แต่พอคุณลงรายละเอียดแล้ว นอกจากทุกคนจะคิดตรงกัน ยังอาจจะเพิ่มความรู้สึกร่วมเข้าไปได้ด้วย
ความ Surprise
ความน่าสนใจของมนุษย์ที่คุณอาจจะไม่เคยสังเกตตัวเองก็คือ ตลอดเวลาที่เราอ่านหรือฟังอะไร เราจะพยายามเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปเสมอ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณดูหนังฆาตกรรมสืบสวนเรื่องหนึ่ง คุณจะพยายามเดาว่าใครเป็นผู้ร้าย ถ้าคุณอ่านหนังสือคุณก็จะพยายามเดาว่าผู้เขียนจะดำเนินเรื่องต่ออย่างไร ประเด็นก็คือ หากคุณเดาถูก คุณจะเบื่อ และอาจจะทำให้คุณหลับไปหรือเลิกอ่าน ดังนั้นการเขียนเรื่องเกิดคาดหรือการสร้าง Surprise จึงจำเป็นอย่างยิ่ง
Jean-Louis Dessalles นักวิจัยด้าน AI ที่ Telecom Paris ได้ทำการทดลองโดยให้ผู้ร่วมทดลองอ่านเนื้อเรื่องสั้น ๆ เกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่โชคร้าย รถยนต์ของเขาหายไป จนกระทั่งวันหนึ่งตำรวจได้ปรากฎตัวและบอกกับเขาว่า ผู้ร้ายที่ขโมยรถยนต์ของเขานั้นเป็นใคร ทีนี้ Jean ได้ให้ผู้ร่วมทดลองเลือกตอนจบเองว่า อยากให้ใครเป็นผู้ร้าย โดยตัวเลือกมีดังนี้ 1. เพื่อนร่วมงาน 2. เพื่อนของน้องชาย และ 3. เพื่อนบ้าน ผลลัพท์ออกมาว่า 17 ใน 18 บอกว่าอยากให้เป็นข้อ 1 คือ เพื่อนร่วมงาน เพราะพวกเขาไม่อยากให้เนื้อเรื่องออกมาเดาง่ายเกินไป
ทั้งนี้คำว่า Surprise อาจจะไม่ได้หมายถึงการหักมุมเสมอไป แต่อาจจะเป็นเรื่องแปลก ๆ ที่เขาไม่เคยรู้มาก่อนก็เป็นได้ คุณอาจจะเสริมเขาด้วยความรู้ใหม่ ๆ หรือความเชื่อที่ล้มล้างความคิดเดิมของเขาก็ถือว่าเป็น Surprise เช่นกัน
ภาษากระตุ้นอารมณ์
การใช้ภาษาที่เสริมด้านอารมณ์เข้าไปด้วยจะทำให้คนอ่านรู้สึกอินกับเนื้อหามากขึ้น โดยเฉพาะคำที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น การเคี้ยว ดม เจ็บ เหล่านี้
การใช้ภาษาที่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องนอกจากจะทำให้คนอ่านมีความรู้สึกร่วมไปกับเนื้อหา ยังช่วยให้นึกภาพตามได้ง่ายขึ้นด้วย
มีการทดลองเรื่องความเข้าใจที่รวดเร็วขึ้นด้วยการนำประโยคที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกให้ผู้ร่วมทดลองอ่าน และทำการศึกษาสิ่งที่เรียกว่า “Attentional Blinks” หรือการกระพริบตา ซึ่งจะเกิดถี่ขึ้นเมื่อสมองเราได้รับข้อมูลมากเกินไปและ process ไม่ทัน การใช้เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ทำให้ผู้อ่านกระพริบตาน้อยลงหรือไม่กระพริบเลยด้วยซ้ำ
ดังนั้น หากต่อไปคุณจะเขียนอะไร ลองใส่อารมณ์เข้าไปด้วย เช่น “ต่อไปนี้จะทำอะไรก็ระวังตัวไว้ให้ดี” ให้เปลี่ยนเป็น “ต่อไปนี้ระวังตัวเอาไว้ให้ดี ระวังจะโดนแทงข้างหลังเข้าซักวัน” เห็นไหมครับว่า ประโยคหลังนั้นให้อารมณ์และความรู้สึกมากกว่าประโยคแรกอย่างมากมาย
การหลอกล่อ
ว่ากันว่า มนุษย์จะมีความสุขเมื่อได้วางแผนไปเที่ยวมากกว่าหลังเที่ยวเสร็จแล้ว แม้ว่าเราจะบอกว่า เราต้องการไปเที่ยวเพื่อ reset ร่างกายให้พร้อมสำหรับทำงาน
นั่นเป็นเพราะมนุษย์เรามักจะจินตนาการถึงจุดที่จะตื่นเต้นก่อนที่จะได้ตื่นเต้นจริง สิ่งนี้เรียกว่า Anticipatory Utility เมื่อเรากำลังคาดหวังอะไรอยู่ เราจะตื่นเต้น กระหายที่จะรู้
ดังนั้นคุณสามารถพัฒนาการเขียนได้ด้วยการเริ่มต้นด้วย คำถาม หรือ ปัญหา เพื่อให้คนรู้สึกสงสัยและอยากรู้ เมื่อเขาได้จินตนาการถึงสิ่งที่เขาจะได้รู้ เขาจะรู้สึกตื่นเต้น สนใจ
ทำให้เขารู้สึกฉลาด Smart Thinking
มนุษย์จะรู้สึกดีเมื่อเขารู้สึกว่าเขาเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น การสร้างให้เกิด AHA moment ในเนื้อหาที่เขียนจะไปกระตุ้นสมองของผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านรู้สึกดี
ยกตัวอย่างการพูดของ Ginni Rometty อดีต CEO ของ IBM เคยพูดถึงเรื่องอนาคตของการพัฒนาหุ่นยนต์ไว้ว่า “It will not be a world of man versus machine; it will be a world of man plus machine” จากความคิดเดิม ๆ ของคนที่หวาดกลัวต่อการพัฒนาอย่างรวดเร็วของหุ่นยนต์และ AI เกรงว่าสิ่งเหล่านี้จะมาแทนที่คน ทำงานแทนคน เขาได้เปลี่ยนความคิดของผู้ฟังและบอกว่า หุ่นยนต์ไม่ได้จะมาแทนที่หรอก แต่หุ่นยนต์จะมาร่วมกันทำงานกับมนุษย์ต่างหาก
Social Content
มนุษย์เรามักจะนึกถึง Human Connection เสมอ ความหมายคือ ขณะที่คุณกำลังอ่าน คุณจะพยายามจินตนาการถึงคนใกล้ตัว คนในสังคมที่คุณรู้จัก หรืออาจจะเป็นคนในจินตนาการเลยก็ได้ หรือสุดท้ายแล้วอาจจะจินตนาการถึงตัวเอง มนุษย์เรามักจะสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับมนุษย์ด้วยกันอยู่เสมอ
ดังนั้นคุณสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการเขียนได้ด้วยการใส่มุมมองบางอย่างของมนุษย์เข้าไป หรือการเขียนถึงเขาในฐานะบุคคลที่สองด้วยการใช้คำว่า “คุณ” ก็ได้ผลดีเช่นกัน
Storytelling
ข้อนี้พลาดไม่ได้เลย การเล่าเรื่องมีผลต่อสมองมนุษย์โดยตรง จากการศึกษาด้วยการสแกนสมองขณะเล่าเรื่อง พบว่าเมื่อผู้ฟังได้ยินเรื่องเล่าที่น่าสนใจ สมองจะตอบสนองโดยตรงโดยเฉพาะกับส่วนที่เรียกว่า Reward Circuit
หากคุณลองสังเกตการพรีเซนต์ การพูดบนเวทีของใครหลายคน จะพบว่าพวกเขาต้องนำเรื่องเล่า Storytelling ต่าง ๆ มาพูดให้ฟังเพื่อให้ผู้คนสนใจและอินกับเรื่องต่อไปที่เขากำลังจะเล่า
ดังนั้นหากคุณต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร อย่าพูดถึงแต่ทฤษฎีและเนื้อหาหลัก แต่ให้โยงเรื่องราวจริงที่น่าสนใจเข้ามาผูกให้เกี่ยวข้องด้วย
และทั้งหมด 8 ข้อนี้ เป็น 8 ข้อที่เชื่อว่าจะช่วยให้คุณสามารถพัฒนาทักษะการเขียนและการสื่อสารให้ได้ดีมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปิน หรือผู้มีพรสวรรค์ แต่จำเป็นต้องหมั่นฝึกฝนเพื่อให้ได้ใช้ 8 ข้อนี้ได้อย่างคล่องตัวในทุก ๆ ครั้งที่เริ่มเขียนและสื่อสาร
REF: บทความนี้นำเนื้อหาหลักมาจาก Harvard Business Review ฉบับเดือน July-August 2021 หัวข้อ “The Science of Strong Business Writing”
สำหรับคนที่ถนัดฟังมากกว่าอ่าน สามารถกดฟังได้จาก CREATIVE TALK Podcast “จิตวิทยาและการเขียนเกี่ยวข้องกันอย่างไร”
ตอนที่ 1: Apple Podcast | Google Podcast | SoundCloud | Podbean หรือชม LIVE ย้อนหลังได้ที่ Facebook LIVE และ YouTube
ตอนที่ 2: Apple Podcast | Google Podcast | SoundCloud | Podbean หรือชม LIVE ย้อนหลังได้ที่ Facebook LIVE และ YouTube