เบื้องหลังการเขียนหนังสือ Presentation Canvas

เบื้องหลังการเขียนหนังสือ Presentation Canvas

จากวันที่หนังสือออกจนถึงวันนี้ก็น่าจะประมาณ 2เดือนเข้าไปแล้ว ทีแรกคิดว่าจะรีบเขียนเบื้องหลังแต่นึกไปนึกมารอซักนิดก็ดี และวันนี้คิดว่าน่าจะเป็นโอกาสเหมาะเนื่องจากหนังสือได้รับการ “พิมพ์ครั้งที่ 2” แล้ว (ดีใจและเกินคาดมาก ๆ)

ทั้งนี้บทความนี้หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากจะเขียนหนังสือ หรืออยากรู้ที่มาที่ไป และอยากอ่านเพื่อความบันเทิงด้วยครับ

ก่อนอื่นต้องบอกไว้ก่อนว่า ในฐานะนักเขียน ผมยังอ่อนด้อยนัก 5555 ถ้าเทียบกับหลาย ๆ ท่านในยุทธจักร แต่ส่วนตัวแล้วถือว่าพึงพอใจกับงานที่ทำออกไปและคิดว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มาน่าจะมีประโยชน์ครับ

เริ่มกันเลย..


“เอาตามตรง ผมไม่คิดว่าพี่จะเขียนได้เยอะขนาดนี้”

นี่คือคอมเม้นต์ของน้อต น้องคนอุตรดิตถ์ที่ตั้งรกรากอยู่เชียงใหม่ เรารู้จักกันมานาน สนิทสนมกันมากจนเพื่อน ๆ บางคนคิดว่าน้อตเป็นลูกชายที่หายไป

“เออ ฉันก็สงสัยตัวเองเหมือนกัน” คือคำตอบของผมที่มีให้น้อต

อย่างไรก็ตาม เรื่องหนึ่งที่หลายคนไม่รู้คือสมัยผมเรียนอยู่มัธยม ผมชอบวาดการ์ตูน และเขียนหนังสือมาก เรียกได้ว่าวาดการ์ตูนเป็นเล่ม ๆ เขียนหนังสือเป็นนิยายออกมา 3-4 เล่ม บางเรื่องก็สั้นมาก ไม่กี่หน้า แต่เรื่องที่เขียนยาวที่สุดน่าจะเกือบร้อยหน้าได้ (จนมาวันนี้ก็แอบสงสัยตัวเองว่า ช่วงนั้นฉันไม่มีเพื่อนคบหรือยังไงนะ!?)

แต่หลังจากได้เรียนดีไซน์ สายที่ชอบ ก็ไม่ได้สนใจเขียนอีกเลย

ได้กลับมาเขียนอย่างต่อเนื่องอีกครั้งก็บน Facebook นี่ล่ะ เขียน status สั้นบ้าง ยาวบ้าง และมีเขียนเป็นหนังสือก็เป็นหนังสือสาระ รวบรวมสิ่งที่ได้เรียนรู้ระหว่างการทำงานตลอด 12ปี เป็นหนังสือชื่อ “Read Everyday Repeat Every Month” เป็นหนังสือที่อยากให้คนอ่านได้อ่านทุกวันตลอด 1 เดือน และอ่านซ้ำ ๆ ทุก ๆ เดือนด้วย

หนังสือเล่มนั้นไม่ได้มีวางขาย เพราะเราเขียนเองสั่งพิมพ์เอง และ “แจก” เพื่อน ๆ ที่ใกล้ตัว

แต่มันก็ไม่ขี้เหร่เพราะแจกจนหมด และอีกสองปีถัดมาก็พิมพ์รอบสอง พร้อมเนื้อหาเพิ่มเติม ในชื่อใหม่ที่ว่า “Read ‘more’ Everyday Repeat Every Month” คือ อ่านมากขึ้นเข้าไปอีกในแต่ละวันและยังต้องอ่านซ้ำ ๆ เหมือนเดิมนะเธอว์

ทีนี้มาเข้าเรื่อง Presentation Canvas กันดีกว่า

จริง ๆ เคยเล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ Presentation Canvas แล้ว แต่ว่าขอเล่าปูพื้นคร่าว ๆ อีกนิดที่นี่ละกัน

Presentation Canvas เริ่มจาก “ปัญหา” ของเราที่ว่า ทำไมทุกครั้งที่เราออกไปพรีเซนต์งานลูกค้าแล้ว บางครั้งก็ขายได้ บางครั้งก็ขายไม่ได้ บางครั้งลูกค้าซื้อ บางครั้งลูกค้าไม่ซื้อ

แน่นอน ส่วนหนึ่งมาจากเนื้องาน สินค้า ไอเดีย ที่ไปนำเสนอวันนั้นด้วย แต่มันก็คงจะแย่ไม่น้อย ถ้าเนื้อหาดี แต่ดันพรีเซนต์ไม่ได้เรื่อง การขายที่ผิดพลาดอาจจะทำให้เสียของดีไปได้ มันเหมือนคนที่พยายามตั้งใจคิดไอเดียมานาน ๆ คิดมาเป็นอย่างดี ทำของมาเป็นอย่างดี แต่วันสำคัญที่สุด วันที่ต้องพรีเซนต์กลับทำไม่ได้เรื่อง ทุกอย่างที่เคยสร้างมานั้นแทบจะไร้ประโยชน์กันเลยทีเดียว

เหมือนนักวิ่งโอลิมปิกที่ซ้อมมานาน 4ปี เพื่อวิ่งไม่ถึงนาทีนั่นล่ะ ถ้าซ้อมมาดี แต่วันวิ่ง วิ่งไม่ได้ดี ทั้งหมดที่ซ้อมมา 4 ปี ก็อาจจะมีค่าเท่ากับศูนย์

เราไม่อยากเป็นเช่นนั้น เราอยากจะลดความเสี่ยงในการผิดพลาดอันเนื่องมาจากการนำเสนอที่ไม่ดีพอ

และนั่นจึงเป็นที่มาของการพยายามหา “สูตร” เพื่อนำไปสู่การทำ Presentation ที่ใช้งานได้ดี เพิ่มโอกาสของความสำเร็จและลดความเสี่ยงที่จะผิดพลาด

แต่ว่าจะทำอย่างไร? จะหาสูตรและจะสื่อสารออกไปได้อย่างไรกัน?

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 4-5ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้เป็นที่ปรึกษาให้กับสตาร์ทอัพหลายราย และหลาย ๆ รายนั้นต้องใช้เครื่องมือหนึ่งที่เรียกว่า Business Model Canvas หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า BMC

ผมเองเห็นว่า เห้ย! ไอ้เครื่องมือนี้มันก็ไม่มีอะไรนอกจากกระดาษแผ่นเดียว แต่ความสามารถของมันเหลือล้น มันเป็นตัว check up ช่วยให้นักธุรกิจได้สำรวจตัวเอง ตัวธุรกิจเอง ได้รอบด้าน 360 องศา แล้วทำไมเราจึงไม่ใช้ไอเดียแบบนี้ในการช่วยคนทำ Presentation บ้างล่ะ!?

ก่อนที่จะไปไกลกว่านี้ ผมเองต้องขอเคลียร์ และทำความเข้าใจกับทุกคนก่อนว่า คำว่า “ช่วยคนทำ Presentation” ของผมนั้น ไม่ได้หมายถึงการสอนใช้ PowerPoint, หรือการสอนออกแบบว่ากราฟฟิกไหนควรอยู่ไหน และควรใช้ Font อะไร แต่ผมกำลังหมายถึงการช่วยคน “เรียบเรียงเรื่องราว” และส่งผลให้สามารถ “โน้มน้าวใจคนฟัง” ได้ เพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จ

ดังนั้น Presentation Canvas เวอร์ชั่นหนึ่งจึงถูกสร้างขึ้น

สร้างจากไหน? สร้างจากมโนภาพของผมเอง -_-” ซึ่งเรารู้แหละว่า มโนอันนี้มันไม่เวิร์คหรอก แต่ว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันไม่เวิร์ค หรือมันอาจจะมีบางส่วนที่เวิร์คได้ คำถามคือ “เราจะรู้ได้อย่างไร”

เวลาผมอ่านหนังสือต่างประเทศหลาย ๆ เล่ม ผมมักจะเห็นนักเขียนเขาเขียนถึงทฤษฎีความเชื่อต่าง ๆ และทฤษฎีเหล่านั้นจะดีจนเขาสามารถเขียนออกมาเป็นหนังสือให้เราอ่านได้นั้น ต้องผ่านการพิสูจน์ ต้องทดสอบมาแล้ว ผิดพลาดมาแล้ว และต้องมีคำยืนยันที่บอกว่า “เวิร์ค” แล้ว

ผมก็คิดว่า “เออ งั้น Presentation Canvas ของเราก็ต้องผ่านการทดสอบด้วยเช่นกัน”

ผมเริ่มต้นด้วยการนำเจ้า Canvas นี้ไปเล่าให้หลาย ๆ คนฟัง เล่าให้คนรอบตัวฟัง และปรับจากตรงนั้น

Presentation Canvas

ถัดมาผมก็ลองเปิด Facebook Live สอนคน ลองเขียนบทความ

Presentation Canvas facebook

พอเห็นข้อดีข้อเสียแล้วก็ปรับ พอปรับให้ดีขึ้นได้แล้วก็ไปสอนอีก แต่คราวนี้ลองไปสอนกับองค์กรใหญ่ ๆ กลุ่มคนที่เจอตัวกันเป็น ๆ แล้วสังเกตดูการใช้งาน ข้อดี ข้อเสีย และปรับรูปแบบของตัว Canvas ไปเรื่อย ๆ

ขณะเดียวกัน ผมก็จะสังเกตเรื่องราวเนื้อหาที่ผมได้เล่า ได้สอน ว่าวิธีการเล่าแบบไหนจะทำให้คนเข้าใจ ส่วนไหนที่พูดทีไรก็ งง ทุกที ทำกันผิดทุกที แล้วก็ปรับ

ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 4-5ปีได้

กว่าจะมาถึงวันที่ได้เขียนหนังสือ วันนั้นผมก็ได้เกลาทั้งตัว Canvas เอง และตัวเนื้อหาที่สอนไปด้วยในตัวแล้ว

จนกระทั่งมาถึงช่วงต่อไป ช่วงที่จะเขียนหนังสือบ้าง..

เริ่มเขียนหนังสือ

ต้องขอบอกอย่างใจจริงว่าเริ่มแรกเดิมทีไม่ได้คิดจะเขียน Presentation Canvas ออกมาเป็นหนังสือ

ขณะที่ผมเองกำลังจะมีคลาสสอนเรื่อง Presentation Canvas ให้กับ Creative Talk Action ซึ่งเป็นการสอนแบบ workshop ที่จัดโดยทีม Creative Talk เองนั้น ผมก็คิดว่า “เราควรจะทำอะไรพิเศษ ๆ ขึ้นมาหน่อยสำหรับการสอนครั้งนี้”

และความพิเศษที่ว่านั้นก็คือ “การเขียนเนื้อหาอย่างละเอียดให้นักเรียนทุกคน”

อย่างที่ได้เขียนไว้ด้านบนว่า เนื้อหาและตัว canvas นั้น ถูกขัดเกลามาตลอด 4-5ปี ดังนั้นการเขียนเนื้อหาเพื่อแจกนักเรียนในวันนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากอะไร ไม่มีอะไรต้องค้นคว้าเพิ่มเติม ผมเองสามารถเปิดสไลด์ที่สอนอยู่ประจำแล้วเขียนจากสิ่งที่อยู่ในหัวได้เลย และในเวลา 4-5วัน ผมก็ได้ชีทหนา ๆ ปึกหนึ่งที่มีจำนวนหน้าทั้งหมด 100กว่าหน้า

“พิมพ์มาหนาขนาดนี้จะเอาไปแจกใคร! แถมเปลืองกระดาษอีก!!” น้อง ๆ ในทีมบอก

แต่ในช่วงนั้น คุณโจ้ MD ที่บริษัท RGB72 ของผมก็บอกว่า “ทำไมพี่เก่งไม่ส่งต้นฉบับนี้ให้สำนักพิมพ์พิจารณาดูล่ะ?”

โหหหห จากชีท กลายเป็นต้นฉบับ ฟังดูเท่ห์มาก!

ด้วยความเป็น เดอะบอส ผมเลยบอกโจ้ว่า “เออได้ ถ้ามีสำนักพิมพ์สนใจก็พิมพ์แหละ แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ว่ากัน”

เราติดต่อไป สอง สำนักพิมพ์ โดยสำนักพิมพ์แรกบอกว่า “หนังสือ How-To เขามีเยอะแล้ว ไม่อยากได้แล้ว” ส่วนสำนักพิมพ์ที่สองนี่ ส่วนหนึ่งเกิดจากการสอบถามไปยังคุณหนุ่ย การตลาดวันละตอน และสำนักพิมพ์นั้นก็คือ สำนักพิมพ์อัมรินทร์ how to นั่นเอง

ส่งต้นฉบับ

เราส่งต้นฉบับแบบแย่ ๆ ไป ก็คือต้นฉบับที่เขียนเสร็จใน 4-5 วันนี่แหละ แต่ที่บอกว่า “แย่” ก็เพราะว่าเป็นต้นฉบับที่ผมเขียนแบบไม่มีการเช็คคำ ตัวสะกด การเรียบเรียงอะไรก็ไม่มี ไม่ได้ขัดเกลาอะไรเลย เขียนอย่างไรก็ส่งไปแบบนั้น ด้วยเหตุผลที่อยากให้เขาได้ลองอ่าน ดูไอเดียก่อน ว่าพอใช้ได้ไหม ถ้าใช้ได้ก็จะได้เอากลับมาเกลาใหม่ แต่ถ้าใช้ไม่ได้เลย จะได้ไม่ต้องพิมพ์กัน

ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ผมเขียนเนื้อหาทั้งหมดลงใน Google Doc จากนั้นก็ส่ง share link ให้ทางสำนักพิมพ์

บรรณาธิการของผมมีสองคนคือคุณตุลย์และคุณน้ำหวาน ทั้งคู่คือดีมาก น่ารักมาก ๆ ผมเองก็เกรงใจมาก ๆ เพราะเราเป็นมือใหม่สุด ๆ ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าต้องเขียนอะไร ทำอะไรยังไงบ้าง แถมเราก็ไม่ใช่คนมีชื่อเสียงที่จะออกหนังสือแล้วคนจะแห่กันมาซื้อในทันที

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นกำลังใจมาก ๆ ก็คือ ทางทีมบก.นี่แหละที่บอกว่า “ชอบหนังสือและเนื้อหามาก” (มากจนบางทีแอบคิดว่าเห้ยที่บอกเรามานี่คืออวยกันเองรึเปล่านะ เกิดความไม่มั่นใจซะงั้น)

จากเวอร์ชั่น 1 ที่ไม่มีขัดเกลาอะไร ก็มาเป็นเวอร์ชั่น 2

เวอร์ชั่นสอง คือ แย่ที่สุด!

ตอนที่ได้เขียนเวอร์ชั่นสองคือตอนที่รู้ว่าเนื้อหาที่พิมพ์เล่น ๆ นี้จะกลายเป็นหนังสือแล้วนะ! ทีนี้ก็ตื่นเต้นสิครับ!! เห้ย ไม่เคยทำหนังสือว่ะ !! ความกดดันมีมาก และถาโถมเข้าใส่อย่างหนัก จะเขียนยังไงดี เขียนแล้วคนจะชอบไหม คนอ่านจะหาว่าเราโม้มั้ย จะได้เรื่องรึเปล่า

คำพูดหนึ่งของใครจำไม่ได้ เขาบอกว่า “การเขียนหนังสือนั้นจำเป็นต้องพิจารณาทุกตัวอักษร เพราะเมื่อเขียนแล้ว พิมพ์แล้ว มันแก้ไขไม่ได้แล้ว ดังนั้นจึงต้องมีความละเอียดละออมากกว่าการเขียน blog บนออนไลน์มากนัก เพราะตัวอักษรจะถูกจารึกไว้บนแผ่นกระดาษที่จะพิมพ์ออกไปสู่สายตาคนอีกหลายพันคน”

ไม่รู้ว่าคำพูดนี้มาถูกเวลาเพื่อทำให้เรารู้สึกตระหนักในความสำคัญของการเขียน หรือมาเพื่อกดดันผมกันแน่! รู้แต่ว่าความกดดันนี้ทำให้หนังสือเวอร์ชั่นสองนี่ไม่ได้เรื่องเอาซะเลย

ผมเขียนออกมาเหมือนหนังสือต่างประเทศ พยายามเขียนให้เท่ห์ ให้ดูดีมีหลักการ เล่นคำ เล่นภาษา ซึ่งพอเขียนออกไปได้ไม่ถึงครึ่งทาง ผมก็เหนื่อยล้า และพอย้อนกลับมาอ่านก็รู้สึกว่า ไม่สนุก และอยากจะโยนทิ้ง

“เออ อ่านแล้วง่วงนอน ไม่สนุก ติด ๆ ขัด ๆ ดูหล่อไป!”

นี่คือคอมเม้นต์ที่ได้จากคนที่อ่านเวอร์ชั่นสอง

สิ่งเดียวที่ควรทำ ทำได้ง่ายสุด และดีที่สุด แต่ต้องหักห้ามใจพอสมควรคือการ “ทิ้ง” เวอร์ชั่นนี้ไป แล้วเริ่มต้นใหม่

กว่าจะมาเป็นหนังสือ

ถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า แล้วเวอร์ชั่นหนึ่งไม่เอามาพัฒนาต่อล่ะ? ก็ต้องบอกว่า เวอร์ชั่นหนึ่งนั้นเป็นเวอร์ชั่นที่เขียนแบบด้นสด ๆ ไม่มีโครงสร้างใด ๆ จึงจำเป็นต้องรื้อใหม่ครับ

เวอร์ชั่นสามนี้ เป็นเวอร์ชั่นที่เริ่มเขียนใหม่ แต่มีการวางโครงสร้างไว้ โดยเริ่มจากสารบัญ ว่าเราจะพูดเรื่องอะไรบ้าง จะเล่าเรื่องอย่างไร จะให้ผู้อ่านเข้าใจเราได้อย่างไร และคิดตามเราได้อย่างไร เวอร์ชั่นนี้ต้องกำหนดทางเดินด้านความคิดให้ผู้อ่านด้วย และที่สำคัญที่สุด ผมเองเชื่อว่าต้องมีผู้อ่านไม่น้อย ที่อ่านไปแล้วก็แอบนึกสงสัยว่า “ไอ้หนังสือเล่มนี้มันเดินเรื่องตาม Canvas ที่คนเขียนมันเขียนอยู่หรือไม่” ดังนั้น เพื่อบอกผู้อ่านว่าเราเองก็เชื่อใน Canvas ของเราจริง ๆ เนื้อหาจึงถูกดำเนินเรื่องด้วยการเล่าปัญหาที่ผมเองได้พบเจอและมี Storytelling ที่พยายามบอกว่า เราสามารถแก้ไขสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของตัว Canvas ตัวนี้

Presentation Canvas Table of Contents

แล้วก็ลงมือเขียน เขียนอย่างรวดเร็ว ไม่คิดอะไรทั้งนั้น ทำเหมือนเวอร์ชั่นแรก แต่มีโครงสร้างแล้ว เขียนแบบไม่สนใจผิดถูก ตัวสะกดอะไรต่าง ๆ ไม่แคร์ ไม่ซีเรียส

ตัวอักษรที่ผมสะกดผิดบ่อยสุดก็น่าจะเป็นคำว่า เขา หรือ เค้า แบบนี้ และคำว่า พรีเซนเทชั่น ที่บางทีก็สะกดว่า พรีเซนเตชั่น หรือ พรีเซ้นเทชั่น และอีกคำก็คือคำว่า พรีเซนต์ ที่บางทีก็สะกดว่า พรีเซนท์ หรือ พรีเซ้นต์ แต่ไม่เป็นไร ช่างมัน เราไม่อยากให้หัวเราโดนตีกรอบมากไป ดังนั้น เขียนให้ “สนุกก่อน”

ขั้นตอนที่ 1 จึงเป็นการเขียนอย่างไรให้ “สนุก” คำว่าสนุกหมายถึง เราเองก็สนุก ผู้อ่านก็ต้องสนุกด้วย

ขั้นตอนที่ 2 จึงเป็นการเขียนอย่างไรให้ถูกต้อง นั่นหมายถึงการสะกดตัวอักษร การเว้นวรรค การย่อหน้า ตัวหนา ตัวเอียง ตัวใหญ่ ตัวเล็ก ฯลฯ

และขั้นตอนที่ 2 นี่ล่ะ จึงเป็นเวอร์ชั่นที่สี่ สุดท้ายแล้วนั่นเอง!!

หน้าปก

หน้าปกนี่เป็นเรื่องที่ปวดหัวมาก เพราะแม้ว่าผมเองจะเป็นดีไซน์เนอร์มา แต่ถ้าพูดถึงความเป็นมืออาชีพด้านการขายหนังสือแล้วนั้น ก็ต้องยกให้ทางสำนักพิมพ์

ผมเองมีไอเดียสำหรับหน้าปกหนังสืออยู่มากมาย แล้วก็พยายามช่วยกันออกแบบ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทางสำนักพิมพ์เป็นอย่างดี แต่เราก็ต้องเชื่อมือเขาแหละ จนสุดท้ายทางสำนักพิมพ์นำหน้าปกที่ได้จากผมไปออกไป ปรับสีเพิ่มเติม แล้วก็ได้มาซึ่งหน้าปกตัว Final นี้

Presentation Canvas Cover
เวอร์ชั่นหน้าปกที่คิดไอเดียออกมา
เวอร์ชั่นสีเหลือง ที่เราว่าสุดตาดี แล้วก็ทำเป็น Mockup ให้ดูว่า ถ้าอยู่ในร้านจะเป็นอย่างไร (แอบให้เป็นหนังสือขายดีด้วยนะ)
นี่ก็ทำ Mockup ด้วยการ print ออกมาเทียบกับของจริงกันไปเลย!! (อันนี้คุณโจ้ทำ)

ส่วนตัวทีแรกไม่ชอบที่เอาภาพ Canvas ขึ้นหน้าปก เพราะมันดูเป็นหนังสือเนิร์ด ๆ แต่ก็นะ เราเชื่อเขา ปรากฎว่า มีหลายคนฟีดแบคมาว่าชอบหน้าปกแบบนี้ เพราะบางครั้งอ่าน ๆ อยู่นึกภาพตามไม่ออกว่า Canvas หน้าตาเป็นอย่างไร ก็พลิกหน้าปกดูเลย ง่ายดี

หนังสือ Presentation Canvas
หน้าปกที่สุดท้าย Final จบที่นี่

ส่งโรงพิมพ์

โหววว ตื่นเต้นเลย เมื่อบก.แจ้งว่าหนังสือเรากำลังได้รับการพิมพ์แล้วนะ

ที่ตื่นเต้นไม่ใช่ว่าเพราะจะได้ออกขาย หรือจะได้เห็นมันเป็นหนังสือนะ แต่ไอ้ประโยคที่บอกว่า การเขียนหนังสือคือการจารึกลงกระดาษแล้วแก้ไม่ได้นั่นแหละที่ทำให้เรากังวลว่า “เอิ่มมม นี่คือดีแล้วใช่ไหม!!?”

แต่อย่างไรก็ตาม ผมเองก็ revise แก้ไขเจ้าเวอร์ชั่นสี่มาหลายรอบมาก แล้วก็เชื่อว่าน่าจะดีใจระดับที่เราพอใจแล้วล่ะ!

แต่สุดท้ายก็ลืม..

ทีแรกเกือบลืม “คำนำ” แล้วก็เกือบลืมคำเขียนหลังปก.. แต่สุดท้ายที่ลืมคือ “คำนิยม” !! โมโหตัวเองว่า เห้ย!! เพื่อนเราก็มีตั้งเยอะ เป็นนักเขียนเก่ง ๆ ก็เยอะ ทำไมไม่ให้เขาเขียนคำนิยมว้าาาาาา!!!! คือเราเองก็ไม่ได้ชำนาญ ไม่รู้ว่าจะต้องให้ใครเขียนอะไรยังไงบ้าง แล้วก็ลืมด้วย สรุปแล้ว สิ่งที่เราคิดว่าขาดคือ “คำนิยม” จากคนอื่นนี่แหละ (เซ็ง) แต่ไม่เป็นไร .. สู้เว้ย!!

18 มิถุนายน 2020

หนังสือออกขายวันแรก วันนี้ตื่นเต้นมาก ประกาศบอกหลายคนผ่านทาง Facebook ว่าหนังสือเราออกแล้ว บอกเพื่อน บอกครอบครัวทาง LINE ไม่นานก็มีหนังสือส่งมาตามโควต้าที่กำหนดกันไว้ว่า ถ้าหนังสือออกแล้วเราจะได้รับหนังสือในฐานะของนักเขียนเป็นจำนวนกี่เล่ม

ก็ต้องบอกว่า พอหนังสือออก ความคิดของเราก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่มัวแต่คิดว่า จะต้องแก้อะไรไหม ปรับอะไรไหม มีผิดอะไรไหม อยากเสริมอะไรอีกไหม ก็กลายเป็นว่าเรื่องแก้ไขได้จบลงแล้ว แม้ว่าเราจะอยากแก้ก็แก้ไม่ได้แล้ว สมองเรามันเลื่อนมาสู่ step ถัดมาคือ “จะขายให้ได้อย่างไร”

อย่างที่รู้กันว่า ผมเองก็ไม่ใช่นักเขียนมีชื่อ ไม่ใช่คนดังอะไร ไม่มีเพจ ไม่มีลูกเพจหลายแสนหลายล้านคน แถมทฤษฎี Presentation Canvas ก็เป็นเรื่องใหม่ แล้วจะทำอย่างไรถึงจะขายได้?

โชคดีที่เรายังมีเพื่อนในหลากหลายวงการ บางคนเป็นผู้ใหญ่ในบริษัทใหญ่ ๆ บางคนเป็น influencer และอีกมากมาย เพื่อน ๆ ช่วยได้เยอะเลย หลายคนช่วยแชร์ ช่วย PR ช่วยบอกต่อ สนุกดี กลายเป็นว่า ช่วงขายหนังสือนี่เป็นช่วงที่สนุกมาก ใจเราก็อยากให้มันขึ้นอันดับเป็นหนังสือขายดี ส่วนหนึ่งก็เพื่อความภูมิใจของตนเอง แต่อีกส่วนก็ไม่อยากให้สำนักพิมพ์ผิดหวัง

จนในที่สุดหนังสือก็ไต่ขึ้นอันดับเป็น Best Seller หลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็นที่ร้านหนังสือนายอินทร์เอง หรือที่ SE-ED, Kinikuniya, และ Asiabooks ทั้งหมดนี้เป็นร้านหนังสือที่เราเดินเข้าเป็นประจำ พอได้เห็นว่าเป็นหนังสือเราเองที่อยู่บนแท่นอันดับ ก็รู้สึกดีมาก ๆ

ภายในเวลาประมาณ 1เดือนครึ่ง หนังสือทั้งหมด 3,200 เล่มในการพิมพ์ครั้งแรกก็ขายหมด ทางสำนักพิมพ์จัดการสั่งพิมพ์ต่อครั้งที่ 2 อีก 3พันกว่าเล่ม ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของเราจริง ๆ

เซ็นหนังสือและไม้ไอติม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้นมีหนึ่งสิ่งที่เราไม่เคย และ ไม่คุ้นเลย! นั่นคือการ “เซ็นหนังสือ”

ถ้าไม่เคยเขียนหนังสือขาย ก็ต้องไม่เคยเซ็นหนังสือแน่ ๆ และผมก็เป็นหนึ่งในนั้น พอมียอดสั่งจากเพื่อน ๆ ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งเราก็ลองทำสนุก ๆ ว่า “ถ้าเพื่อนคนไหนอยากได้ลายเซ็นด้วย ให้สั่งมาทางแบบฟอร์มนี้” ซึ่งทีแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะมีใครสั่งมา แต่ปรากฎว่ามีมากถึง 200เล่ม!! ซึ่งสำหรับเราคือเยอะมาาากกก (เพราะทีแรกกะไว้ว่าแค่ 50)

ทีนี้สิ่งหนึ่งที่เราอยากทำ คือการอยาก “ให้” กับเพื่อน ๆ ที่สั่งกับเรา เรารู้สึกว่า เขาก็ให้ใจเรามาก ๆ เราก็อยากจะให้พวกเขาคืน ทีนี้จะทำอะไรให้ดี?

คุณโจ้ MD ที่บริษัทที่ช่วยคิด โจ้บอกว่า “ให้ไม้ไอติมไหม เด็ก ๆ เขาเคยได้เป็นที่คั่นหนังสือแล้วน่ารักดี”

“เออดีว่ะ ไอเดียดี เห็นด้วย!”

ว่าแล้วก็จัดไป..

วิ่งไปหาซื้อไม้ไอติมมา แล้วก็มาออกแบบว่าจะเขียนอะไร ไอเราว่าจะเซ็นเฉย ๆ ก็อาจจะน่าเบื่อไปนิด เซ็นหนังสือแล้วยังจะเซ็นที่คั่นอีก.. งั้นเอางี้ ไหน ๆ หัวใจของ Presentation Canvas คือตัวเนื้อเรื่อง งั้นเราเอาตัว Canvas ส่วนของเนื้อเรื่องวาดลงไปละกัน!!

แต่เดี๋ยวก่อน!!!!

เราจะไม่วู่วาม ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่างานที่เรากำลังจะทำนั้น จะใช้พลังงานของเรามากแค่ไหน!! ดังนั้น สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ “ทดลองทำไม้ไอติม 1 แท่ง แล้วจับเวลาว่า 1 แท่งนั้นใช้เวลาทำนานเท่าไหร่!?”

ปรากฎพบว่า 1 แท่งใช้เวลา 1 นาทีเป๊ะ (ถ้าเขียนให้ไวที่สุด) ดังนั้น งานหนักที่สุดของเราจะอยู่ที่ 200นาที หรือประมาณ 3 ชั่วโมงกว่า ๆ รับได้ไหม? ถ้ารับได้! งั้นทำ!!!!!

แล้วก็เริ่มทำไม้ไอติมก่อน

ถัดมาจากไม้ไอติมคือการเซ็นหนังสือ!

การเซ็นแต่ละเล่ม ผมพยายามจะตั้งใจมาก ๆ ทุกคนที่มากรอกแบบฟอร์มซื้อหนังสือ ผมจะให้พวกเขาเขียนด้วยว่า facebook account ของเขาคืออะไร เขาชื่อจริง ชื่อเล่นว่าอะไร ทั้งนี้ผมจะได้ย้อนกลับไปดูได้ว่า พวกเขาเป็นไร เราเคยเจอกันที่ไหน (ในกรณีที่ลืมกัน)

แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือ สำหรับบางคนผมพบว่าวันที่ผมกำลังจะส่งหนังสือนั้นมันตรงกับวันเกิดของเขาพอดี ผมก็จะเขียน “Happy Birthday” ไปให้ด้วยเลย เรียกได้ว่า ถ้า Personalize ได้ ก็จะ Personalize กันทุก ๆ เล่ม ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เลย

คอมเม้นต์

แน่นอนว่าหลังจากขายแล้ว ถึงเวลาที่เราจะต้องเปิดใจ เปิดหู รับฟังความคิดเห็นเพื่อน ๆ และคนที่ได้อ่านหนังสือไปแล้ว

หลายคนชมว่าหนังสืออ่านง่าย อ่านสนุก อ่านได้ไว ซึ่งตรงนี้เราก็ดีใจมาก ที่น่าดีใจคือมีคนถ่ายรูปหนังสือที่จดโน๊ตเยอะแยะมากมายมาให้ดู บางคนก็ทำงานใน Canvas ให้ดู

การจดโน๊ตส่งมาจากผู้อ่าน คุณกิตติพงษ์ สุขสุธากุล
Presentation Canvas ที่ทดลองใช้งานแล้วของคุณ Leo Nonthawat Rism
สรุปเป็น infographic โดยเพจ “สรุปให้”

แต่ก็มีคอมเม้นต์บางส่วนที่บอกว่า เนื้อหาอยากให้ลงลึกกว่านี้ คาดหวังอะไรที่ insight กว่านี้ อยากเห็นตัวอย่างการใช้งานจริง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ผมเองก็รับฟังนะครับ และหวังว่าจะได้มีโอกาสปรับปรุงต่อไปครับ

สรุปสุดท้าย

คอนเซ็ปของ Presentation Canvas อาจจะเป็นพื้นฐานสำหรับการวางโครงเรื่อง เพื่อเรียบเรียงเรื่องเล่าเพื่อการพรีเซนต์ที่ดียิ่งขึ้นและผิดพลาดน้อยลง แต่แน่นอนว่าทุกคนสามารถมี Canvas เป็นของตัวเองได้ อาจจะปรับได้ แต่งได้ ออกแบบใหม่ได้ เพราะเชื่อว่าการใช้งานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ลีลาการเล่าเรื่องของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขอเพียงแค่เข้าใจในหลักการ สุดท้ายแล้วในการปรับใช้ เชื่อว่าแต่ละคนจะมีรูปแบบการปรับใช้ที่แตกต่างกันออกไป

Presentation Canvas พิมพ์ครั้งที่สอง
Presentation Canvas พิมพ์ครั้งที่ 2

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ ขอบคุณพี่ ๆ เพื่อน ๆ ที่ซื้อหนังสือ Presentation Canvas หลายคนต้องใช้คำว่า “เหมา” หนังสือไปแจกทีมงานในบริษัทก็มี ขอบคุณครอบครัวที่สนับสนุน และขอบคุณคุณโจ้ที่เริ่มต้นด้วยการบิ้วให้ส่งต้นฉบับเข้าสำนักพิมพ์ และต้องขอบคุณทุกคนที่เชื่อใจและไว้ใจในไอเดียและงานเขียนครั้งนี้ด้วยครับ

แล้วถ้ามีโอกาสอีก จะลองพยายามกลั่นกรองความรู้ แล้วเขียนเล่มใหม่ เพื่อให้ทุกคนได้สนุกและเรียนรู้ไปด้วยกันนะครับ

Steroids and hormone axis ~ total bodybuilding viagra pills muscular failure: literature and bodybuilding – reader – books by independent chilean publishers.
Tik Tok
Up Next:

ถอดบทเรียน เทคนิค Tik Tok เปิดหลังบ้านฉลองล้าน Likes

ถอดบทเรียน เทคนิค Tik Tok เปิดหลังบ้านฉลองล้าน Likes