The Infinite Game วิสัยทัศน์ระยะอนันต์

The Infinite Game วิสัยทัศน์ระยะอนันต์

ส่วนตัวผมเองเป็นคนที่ชอบแนวความคิดของนักเขียนที่มีชื่อว่า “Simon Sinek” จึงเป็นเหตุผลที่ผมได้ติดตามผลงานเขียนของเขาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเมื่อเดือนมิถุนายนที่รู้ว่า Simon Sinek กำลังมีหนังสือเล่มใหม่ออกมาชื่อ “The Infinite Game” ก็คอยติดตามอยู่ตลอดเวลา

จนเมื่อเดือนตุลาคมจึงได้สัมผัสของจริง และได้เห็นว่าเพื่อน ๆ รอบตัวต่างถือหนังสือเล่มหนาขนาด 230 หน้านี้ไปมา หลายคนอ่านจบภายในเวลารวดเร็ว บางคนบอกว่าเป็นหนังสือที่ดีมาก ๆ แต่ในขณะที่บางคนก็บอกว่า “โลกสวยเกินไปในบางบท”

ทั้งนี้เมื่อผมได้อ่าน และได้ฟังจาก audiobook จึงคิดว่าอยากจะนำเรื่องราวแนวความคิดจากหนังสือ “The Infinite Game” มาเล่าให้ทุก ๆ คนได้อ่านผ่านบทความนี้ครับ โดยบทความนี้อยากจะเริ่มต้นที่บทแรก ๆ ของหนังสือ ที่มีชื่อเดียวกันกับหนังสือ นั่นคือ บทที่ 1 “Finite and Infinite Games”

ว่าแล้วก็เริ่มกันเลยครับ

บทที่ 1: Finite and Infinite Games

หนังสือ The Infinite Game พูดถึงความหมายของคำว่า “Infinite Game” (อ่านว่า อินฟิเนท เกม) หรือเกมธุรกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุดคืออะไร โดยเปรียบเทียบกับเกมธุรกิจอีกฝั่งที่อยู่ตรงข้ามนั่นคือ “Finite Game” (อ่านว่า ไฟน์ไนท์ เกม)

Finite Game หรือเกมที่มีวันที่สิ้นสุดคือเกมที่มีระยะเวลาที่ชัดเจน มีกฎกติกา มีการแสดงตัวผู้เล่น มีเป้าหมายที่เห็นพ้องต้องกันในการไปถึงจุดแพ้ ชนะ ยกตัวอย่างเช่น กีฬาฟุตบอล ที่ต่างฝ่ายจะใส่เสื้อที่มีสีสันแตกต่าง สามารถแยกแยะได้ ฟุตบอลมีกฏกติกา มีกรรมการที่ดูแลกติกาเหล่านั้น ผู้เล่นทุกคนเห็นด้วยและเข้าใจที่จะทำตามและพร้อมจะรับโทษเมื่อทำผิดกฎกติกา ทุกคนเห็นด้วยว่า ถ้าทีมใดได้คะแนนมากที่สุดภายในเวลาที่กำหนด ทีมนั้นจะถือเป็นทีมที่มีชัยชนะ เมื่อการแข่งขันจบลง ทุกคนก็จะแยกย้ายกันกลับบ้าน

ใน Finite Game จะมีจุดเริ่มต้น จุดกึ่งกลาง และจุดสิ้นสุด

แต่ Infinite Game จะตรงกันข้าม ผู้เล่นจะมีทั้งที่เรารู้และไม่รู้ ไม่มีกฎกติกาที่ทุกคนต้องเห็นด้วย ผู้เล่นสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจ มารยาทในการเล่นก็ขึ้นอยู่กับผู้เล่นคนนั้น ๆ ซึ่งพวกเขาสามารถเปลี่ยนวิธีการเล่นได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องสนใจเหตุและผล

Infinite Game เป็นเกมที่ไม่มีเวลาที่สิ้นสุด เมื่อไม่มีเวลาสิ้นสุด เกมก็ไม่มีคำว่าจบ และแน่นอนว่าจะไม่มีผู้ชนะ เป้าหมายเดียวของผู้ที่เล่น Infinite Game คือการทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองสามารถเล่นเกมนี้ได้อย่างต่อเนื่อง และขยายเวลาให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“The primary objective is to keep playing, to perpetuate the game.”

ฟังดูอาจจะรู้สึกว่า Infinite Game เป็นเกมที่น่ากลัว แต่ความเป็นจริงแล้ว Infiite Game กลับอยู่รอบตัวเรา ยกตัวอย่าง เช่น การแต่งงาน ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ใครเป็นผู้ชนะในความสัมพันธ์เหล่านี้ หรือการศึกษา ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าตัวเองเป็นผู้ชนะในการศึกษา หรือแม้แต่การทำงาน เราอาจจะบอกว่าเราสามารถชนะผู้ร่วมงานได้ด้วยตำแหน่ง หรือเงินเดือน แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่า เราชนะการทำงาน คุณอาจจะได้ชื่อว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่เมื่อคุณตายไป คุณไม่สามารถบอกได้ว่า คุณเป็นผู้ชนะในเกมชีวิต เพราะทั้งหมดนี้ที่กล่าวมาล้วนเป็น “Journey หรือการเดินทาง”

สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าคุณลองตั้งใจฟังผู้นำหลายคนในปัจจุบันพูด คุณจะพบว่าพวกเขาหลายคนไม่รู้ว่ากำลังเดินทางอยู่ในเกมแบบไหน ผู้นำมักพูดถึงชัยชนะ และหมกมุ่นอยู่กับการจัดการคู่แข่ง หลายคนป่าวประกาศอย่างใหญ่โตว่าเขาเป็น “The Best” ที่วัดผลจาก “ตัวเลข” ต่าง ๆ นานา ซึ่งถ้าคุณอยู่ในเกมที่ไม่มีวันสิ้นสุด เกมที่ไม่มีเวลากำหนด สิ่งเหล่านี้แทบจะเป็นเรื่องไร้สาระในทันที เพราะมันเป็นไปไม่ได้

คุณจะเดินทางสู่หายนะทันที ถ้าคุณมี Finite Mindset ขณะที่เล่นอยู่ใน Inifinite Game ซึ่งหายนะที่ว่านั้นหมายถึง การบั่นทอนด้านความเชื่อมั่น บั่นทอนความร่วมมือ บั่นทอนความคิดใหม่ ๆ แต่ในทางกลับกันผู้นำที่มี Infinite Mindset ที่เล่นอยู่ใน Infinite Game จะส่งเสริมให้เกิดผลตรงกันข้าม นั่นคือ จะได้รับความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น รวมถึงการร่วมมือจากทีมงานและแนวความคิดไอเดียใหม่ ๆ

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการค้นหาว่าเราความคิดแบบ Finite หรือไม่ และควรจะปรับปรุงอย่างไรก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

Infinite Game of Business

ความจริงแล้วธุรกิจที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันล้วนเป็น Infinite Game เพราะเราไม่อาจจะรู้ได้ว่ามีใครบ้างที่อยู่ในธุรกิจนี้ และอยู่ ๆ ก็อาจจะมีผู้เล่นรายใหม่โผล่มาเมื่อไรก็ได้ ซึ่งผู้เล่นแต่ละคนล้วนมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน ไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ยกเว้นเรื่องเดียวคือกฎหมาย และกฎหมายเองก็แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ซึ่งจะแตกต่างกับ Finite Game ที่ไม่สามารถกำหนดได้ล่วงหน้าว่า ณ จุดใดคือจุดเริ่มต้น จุดกึ่งกลาง และจุดจบ จริงอยู่ที่เราอาจจะมีการกำหนดช่วงเวลาสำหรับการวัดผลการดำเนินงาน ผลประกอบการ รายปี รายไตรมาส และมีการเปรียบเทียบกับผู้อื่น แต่นั่นก็เป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่งของทั้งหมด เราไม่ได้กำหนดจุดจบ เพราะการทำธุรกิจมักไม่มีการตั้งวันที่สิ้นสุด

แม้จะบอกว่าบริษัททั้งหลายนั้นกำลังทำธุรกิจที่ไม่สามารถมีชัยชนะได้ แต่หลาย ๆ ธุรกิจก็มักจะออกมาบอกว่าตัวเองนั้นเป็น “ที่หนึ่ง” ตัวเองนั้นเป็น “The Best” ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่ความเป็นที่หนึ่ง แต่กลับเป็น “เครื่องมือวัดความเป็นหนึ่ง” ที่พวกเขาเป็นคนกำหนดขึ้นมาเองต่างหาก

ยกตัวอย่าง British Airways ที่เคยเคลมว่าตัวเป็นเอง “The World’s favourite airline” ทำให้ทาง Virgin Atlantic ต้องออกมาเรียกร้องกับทางสมาคมมาตรฐานโฆษณาสหราชอนาจักร (Britain’s Advertising Standards Authority หรือ ASA) ว่า จากการสอบถามความคิดเห็นของผู้โดยสารช่วงหลังพบว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริงเลย แต่สุดท้ายทาง ASA อนุญาตให้คำกล่าวอ้างนั้นยังสามารถใช้ได้เพราะคำว่า “Favourite” ในความหมายของ British Airways คือการครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้ทั่วทุกมุมโลก ไม่ได้หมายถึงความชอบ

สำหรับบริษัทหนึ่ง ตัวเลขอาจจะมาจากลูกค้า อีกบริษัทอาจจะมาจากยอดขาย ราคาหุ้น จำนวนพนักงาน หรือจำนวนออฟฟิศทั่วโลก ซึ่งบริษัทที่เคลมความเป็นที่หนึ่งของตัวเองเหล่านี้จะกำหนดแม้กระทั่งระยะเวลาที่ใช้ในการวัดผล ไม่ว่าจะเป็นรายปี รายไตรมาส หรืออาจจะเป็นรายแปดเดือน จากที่ได้อธิบายความแตกต่างของ Game ทั้งสองรูปแบบ จะเห็นว่า Finite Game เป็นเกมที่ทุกคนต้องเห็นด้วยกับกฎกติกาเดียวกัน มาตราวัดเดียวกัน แล้วจึงสามารถตัดสินผู้แพ้และชนะได้จากสิ่งต่าง ๆ เช่น คะแนน, ความเร็ว, หรือความแข็งแรง แต่ถ้าเป็น Infinite Game จะมีหลายมาตราวัด และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่สามารถบอกได้ว่าใครคือผู้ชนะ

ใน Finite Game ผู้เล่นจะเล่นจนเกมจบ และจะกลับมาเล่นใหม่ในครั้งหน้า แต่ Infinite Game นั้นตรงกันข้าม ผู้เล่นจะเล่นไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีใครต้องออกไป เพราะไม่มีคำว่า แพ้ ชนะ ผู้เล่นที่หมดแรงก็จะต้องเดินออกจากเกม ซึ่งในทางธุรกิจเราอาจจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า การล้มละลาย หรือการควบกิจการ

ดังนั้นถ้าต้องการประสบความสำเร็จใน Infinite Game คุณต้องหยุดคิดว่าใครจะเป็นผู้ชนะ หรือใครจะเป็นผู้ที่เก่งที่สุด แล้วหันไปคิดว่าใครจะเป็นผู้ที่แข็งแรงที่สุด ที่จะอยู่ต่อไปได้อย่างต่อเนื่องอีกหลาย ๆ generation

Simon Sinek ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อหลายปีมาแล้ว เขาได้ไปบรรยายที่ Education Summit ใหักับ Microsoft และหลังจากนั้นไม่กี่เดือน เขาก็ไปพูดเรื่องเดียวกันนี้ให้กับ Apple ซึ่งงานที่จัดขึ้นที่ Microsoft นั้นหลายคนที่ได้ขึ้นพูด จะพูดถึงวิธีที่จะทำอย่างไรพวกเขาถึงจะเอาชนะ Apple ได้ ในขณะที่งานที่จัดขึ้นที่ Apple นั้น ทุกคนที่ขึ้นบรรยายล้วนพูดถึงวิธีที่พวกเขาจะสามารถช่วยเหลือครู อาจารย์ และนักเรียน เรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร Simon บอกว่า คนกลุ่มหนึ่งหมกมุ่นอยู่กับการเอาชนะคู่ต่อสู้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งหมกมุ่นอยู่กับการพัฒนาให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้

หลังจากที่ Simon Sinek พูดที่ Microsoft จบ ทาง Microsoft มอบเครื่องเล่น Mp3 “Zune” ให้กับเขา เครื่องเล่น Mp3 ที่ตอนนั้น Microsoft พยายามสร้างขึ้นมาในปี 2006 เพื่อต่อสู้กับการมาของ iPod ซึ่ง Simon เองก็บอกว่า เขารู้สึกว่า Zune เป็นผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ ทั้งในด้านการใช้งานและการออกแบบต่าง ๆ

เช่นกัน หลังงานบรรยายของ Simon ที่ Apple จบ Simon ก็นั่งแท๊กซี่กลับโรงแรมพร้อมกับผู้บริหารลำดับที่ 54 ของ Apple ขณะที่นั่งอยู่ด้วยกันนั้น Simon ก็บอกว่า เขาอดไม่ได้จริง ๆ ที่จะต้องบอกกับผู้บริหารท่านนี้ว่า เขาเพิ่งไปบรรยายให้ Microsoft มา แล้วทาง Microsoft ก็ให้เครื่องเล่น Mp3 กับเขา เครื่องเล่นที่มีชื่อว่า Zune นี่ล่ะ แล้วเขาก็ต้องบอกว่า เครื่องเล่น Zune นี่มันดีกว่า iPod Touch มาก ๆ แต่หลังจากที่พูดจบ ผู้บริหารของ Apple ท่านนั้นก็หันมามองหน้า Simon แล้วพูดว่า “ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร” จากนั้นบทสนทนาก็สิ้นสุดลง

Apple ไม่สนใจเลยว่า Microsoft มีสินค้าที่ดีกว่า หรือผู้บริหารท่านนี้อาจจะแกล้งทำเป็นไม่สนใจก็ได้ แต่ความจริงแล้วเขาเป็นผู้นำที่มี Infinite Mindset ต่างหาก

The Benefits of an Infinite Mindset

ใน Infinite Game คุณค่าขององค์กรไม่สามารถวัดได้โดยความสำเร็จจากไม้บรรทัดที่ตนสร้างขึ้นเอง และในระยะเวลาที่กำหนดเอง แต่คุณค่าขององค์กรสามารถวัดได้จากทุ่มเทของคนทำงานอย่างเต็มใจให้กับให้กับองค์กรนั้น เพื่อให้องค์กรสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะในช่วงเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น ผู้นำที่มี Finite-minded leader หรือคนที่มีความคิดแบบ Finite จะพยายามหาผลประโยชน์จากพนักงาน จากลูกค้า จากหุ้นส่วนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและระยะเวลาที่วางไว้ ขณะที่ผู้นำที่มี Infinite-minded leader จะทำอย่างไรก็ได้ให้พนักงาน ลูกค้า และหุ้นส่วนรู้สึกมีพลังตลอดเวลา และต้องการทุ่มเทด้วยแรงกาย หรือแม้แต่เงินลงทุนของพวกเขาอย่างเต็มที่ ซึ่งผู้คนที่ทำงานโดยมี Infinite mindset จะต้องการเห็นว่าวันที่เขาลาออก บริษัทต้องมีความเจริญรุ่งเรืองมากกว่าวันที่เขาเข้ามาทำงาน

ดังนั้นคนที่มี Finite-minded จะพยายามสร้างสินค้าที่สามารถขายให้ลูกค้าได้ ส่วนคนที่มี Infinite-minded จะสร้างสินค้าที่ลูกค้าต้องการซื้อ

คนกลุ่มแรกจะโฟกัสว่ายอดขายจะสร้างประโยชน์อย่างไรให้กับบริษัท ขณะที่คนกลุ่มสองจะโฟกัสว่าจะสร้างประโยชน์อย่างไรให้กับลูกค้า

การคิดว่า “อะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับฉัน” คือคนที่คิดแบบ Finite thinking แต่การคิดว่า “อะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับเรา” คือคนที่คิดแบบ Infinite thinking เพราะบริษัทที่อยู่เพื่อเล่น Infinite Game จะไม่คิดถึงแต่ตนเอง แต่ต้องคิดว่าในการตัดสินใจครั้งหนึ่ง ๆ จะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้างกับผู้คน กับชุมชน กับเศรษฐกิจ กับประเทศ หรือแม้แต่กับโลกใบนี้

คนที่มีความคิดแบบ Finite-minded จะไม่กล้าเสี่ยง ไม่อยากเจอเรื่องเซอร์ไพร์ส และกลัวการถูกเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้จะหัวเสียเมื่อพวกเขาไม่สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ สิ่งที่จะเพิ่มโอกาสให้เกิดความสูญเสียที่มากขึ้นไปอีก ขณะที่คนที่มี Infinite-minded จะเตรียมพร้อมกับเรื่องเซอร์ไพรส์เสมอ และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง คนกลุ่มนี้จะเปิดใจ ให้โอกาสกับสิ่งใหม่ที่เข้ามา เพื่อทำให้พวกเขายังสามารถอยู่ในเกมนี้ได้ต่อไป แทนที่จะคิดว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่กลับมองว่าจะสร้างสรรค์อะไรได้ใหม่บ้าง

ถึงตอนนี้คุณอาจจะพอเข้าใจแล้วล่ะว่า ทำไมผู้บริหาร Apple คนนั้นถึงได้ไม่สนใจต่อคำชมของ Simon ที่มีต่อเครื่องเล่น Mp3 ZUNE เพราะเขาเข้าใจว่าถ้าอยู่ใน Infinite Game บางครั้งคุณอาจจะมีสินค้าที่ดีกว่าคู่แข่ง บางครั้งคุณอาจจะมีสินค้าที่แย่กว่าได้ Apple ไม่ได้พยายามจะเอาชนะ Microsoft แต่ Apple พยายามจะเอาชนะเป้าหมายของตัวเอง และ Apple เองก็มองไปถึงเป้าหมายใหม่ที่ไกลกว่า iPod การมี Infinite mindset ไม่เพียงแต่จะทำให้พวกเขาคิดออกนอกกรอบ แต่ยังทำให้พวกเขาคิดไกลกว่ากรอบออกไปอีก เพราะหลังจากนั้นอีกประมาณ 1 ปี Apple ก็ออกสินค้าตัวใหม่ นั่นคือ iPhone โทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ออกมาทำลายทั้ง iPod และ Zune ทั้งนี้บางคนบอกว่า Apple สามารถคาดเดาสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ ความจริงแล้วไม่ใช่เลย แต่เป็นเพราะ Apple มีมุมมองแบบ Infinite จึงทำให้พวกเขาสามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ในแบบที่บริษัทที่มีมุมมองแบบ Finite-minded ไม่สามารถคิดได้

ผู้ที่มี Infinite-minded จะไม่โฟกัสที่ Finite Goal แต่จะมองว่า Finite Goal เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการเดินทาง และเมื่อทุกคนมีความคิดแบบ Infinite-minded จะทำให้คนทำงานมีทั้งแรงพลัง ความคิดใหม่ ๆ ยินดีที่จะร่วมมือทำ และภูมิใจในองค์กร ไม่เพียงแต่เฉพาะในช่วงที่เป็นขาขึ้น แต่พวกเขาจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้บริษัทอยู่รอด แข็งแรง และยืดหยุ่นได้ในช่วงที่ยากลำบากด้วยเช่นกัน

บริษัทที่สร้างโดยมีความพร้อมที่จะปรับตัว สามารถยืดหยุ่นได้ (Resilience) จะสามารถอยู่ได้อย่างยาวนาน แตกต่างกับบริษัทที่สร้างมาเพื่อความมั่นคง (Stability) เพราะความมั่นคงแปลว่าอยู่เหมือนเดิม ทำให้เกิด “Slow growth but stable” และถึงกระนั้น บริษัทที่สร้างขึ้นเพื่อความมั่นคงก็ยังไม่เข้าใจใจ Infinite Game เพราะส่วนมากมักจะไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงกับเทคโนโลยี คู่แข่งใหม่ หรือตลาดที่ปรับเปลี่ยนโดยไม่ทันได้ตั้งตัว

ผู้นำที่มีความคิดแบบ Infinite-minded ไม่ต้องการให้บริษัทอยู่เหมือนเดิม แต่ต้องการให้บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสิ่งที่เข้ามา บริษัทแบบนี้พร้อมที่จะปรับตัวและยืดหยุ่นได้ หลายครั้งพวกเขาอาจจะทำธุรกิจในแบบที่แตกต่างจากวันแรกที่พวกเขาคิดว่าจะเริ่มทำธุรกิจเสียอีก

Victorinox บริษัทจากสวิสเซอร์แลนด์ที่มีสินค้า Swiss Army มีดพกที่มีชื่อเสียง แต่ธุรกิจของบริษัทกลับต้องล้มไม่เป็นท่าเพราะผลกระทบจากเหตุการณ์ 9/11 ทำให้มีดพกที่เคยเป็นของขวัญชิ้นสำคัญสำหรับคนเกษียณอายุ วันเกิด หรือวันรับปริญญา กลายเป็นของต้องห้ามบนขึ้นเครื่องบิน ซึ่งเหตุการณ์นี้ถ้าเป็นบริษัทอื่นอาจจะต้องวางแผนตั้งรับ แต่ไม่ Victorinox กลับวางแผนเชิงรุก ผู้บริหารของ Victorinox ไม่คิดที่จะตัดลดต้นทุน ไม่ไล่คนออก แต่ลงทุนในโอกาสใหม่ ๆ ที่จะทำให้บริษัทเดินทางเข้าไปสู่ตลาดใหม่

Victorinox มีเงินสะสมไว้จากช่วงขาขึ้นไม่น้อย เพราะเขารู้ว่าทุกอย่างมีขึ้นก็ต้องมีลง CEO Carl Elsener พูดว่า “เมื่อคุณลองย้อนดูเศรษฐกิจย้อนหลัง คุณจะพบว่ามันก็จะเป็นเช่นนี้เสมอ ๆ และในอนาคตก็จะเป็นเช่นนี้เหมือนเดิม ไม่มีอะไรที่จะอยู่ในขาขึ้นได้ตลอด และไม่มีอะไรที่จะอยู่ในขาลงได้ตลอดเช่นกัน ทุกอย่างมีขึ้นแล้วก็ลง แล้วก็ขึ้นแล้วก็ลงอีก เราจะไม่คิดสั้น ๆ แค่หนึ่งไตรมาส แต่เราถึงไกลในระดับ Generation”

ความคิดแบบ Infinite เช่นนี้ทำให้ Victorinox กล้าเผชิญกับสิ่งที่หลาย ๆ คนเรียกว่า “หายนะ” แต่ผลลัพท์ที่ได้นั้น ทำให้ Victorinox กลับเติบโตและแข็งแรงยิ่งใหญ่กว่าช่วงก่อนที่จะพบกับปัญหา 9/11 เสียอีก

จากเดิมที่การขายมีดมีสัดส่วนมากถึง 95% ของยอดขายทั้งหมดของบริษัท (ซึ่งเฉพาะตัวมีดพอ Swiss Army นั้นมีถึง 80%) วันนี้ลดลงเหลือแค่ 35% ของยอดขายทั้งหมด แต่ยอดขายในสินค้ากลุ่มอื่นเช่น นาฬิกา น้ำหอม ต่างหากที่ทำให้ Victorinox ทำรายได้ได้มากกว่าเดิมถึงเกือบ 2 เท่าตัว!! เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้จากวันก่อนเกิดเหตุการณ์ 9/11

แน่นอนว่าประโยชน์ของการมีความคิดแบบ Infinite mindset นั้นมีมากมายอย่างเห็นได้ชัด แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณมีความคิดแบบ Finite mindset ขณะที่กำลังอยู่ในเกมธุรกิจที่ไม่มีที่สิ้นสุดแบบ Infinite Game?

The Detriments of a Finite Mindset in an Infinite Game
(ความเสียหายของการมีความคิดแบบ Finite ขณะที่กำลังอยู่ใน Infinite Game)

หลายสิบปีหลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง Robert McNamara เลขากระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกามีโอกาสได้พบกับ Nguyễn Cơ Thạch จากกระทรวงต่างประเทศของเวียดนามผู้เชี่ยวชาญพิเศษประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1960 ถึง 1975 ซึ่ง McNamara บอกว่าเขาโดน Thạch สอนถึงความไม่เข้าใจในตัวคู่ต่อสู้ว่า “คุณคงไม่เคยอ่านหนังสือประวัติศาสตร์.. คุณไม่รู้หรือว่าคนเวียดนามต่อสู้กับคนจีนมานานหลายพันปี พวกเราต้องสู้เพื่อเอกราชของเรา! และเราต้องสู้จนหยดสุดท้าย โดยไม่สนว่าจะโดนระเบิดกี่ลูก หรือแม้จะโดนอเมริกากดดันหนักขนาดไหน ก็ไม่มีอะไรสามารถหยุดเราไว้ได้” เพราะคนเวียดนามรู้ว่าตนกำลังเล่น Infinite Game จึงมาพร้อมกับ Infinite Mindset

ขณะที่คนอเมริกาคิดว่าสงครามเวียดนามนั้นเป็นแบบ Finite เพราะว่าสงครามส่วนใหญ่นั้นมีวันที่สิ้นสุด มีการกำหนดพื้นที่แย่งชิงหรือเป้าหมายในชัยชนะที่ชัดเจน ดังนั้นถ้าใครสามารถไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ก่อน คนนั้นก็จะได้รับชัยชนะอย่างไม่ต้องสงสัยและมีโอกาสได้พากองทหารกลับบ้าน แต่สำหรับสงครามเวียดนาม คนเวียดนามไม่ได้คิดเช่นนั้น

ฝั่งอเมริกาเองเข้าใจว่าสงครามเวียดนามถือเป็นสงครามตัวแทน หรือ Proxy War ที่ต่อสู้กับจีนและโซเวียด แต่คนเวียดนามกลับไม่ได้คิดว่าพวกเขาเป็นแค่หุ่นเชิดสำหรับรัฐบาล พวกเขาเคยต่อสู้กับญี่ปุ่นมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ตามด้วยการต่อสู้กับฝรั่งเศส สำหรับคนเวียดนาม พวกเขาไม่ได้มองว่าสงครามเวียดนามเป็นหนึ่งในผลที่ได้ต่อเนื่องมาจากสงครามเย็น แต่มันเป็นการต่อสู้เพื่อไม่ให้ถูกแทรกแซงอำนาจ พวกเขาจึงสู้แบบไม่กลัวตาย และไม่สนใจว่าจะต้องเสียเลือดเนื้อไปมากเท่าไร ซึ่งจริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้อเมริกาได้รู้อยู่แล้วว่า ตอนนี้พวกเขากำลังเล่นเกมแบบไหนกันอยู่

ถ้าคุณมีความคิดแบบ Finite mindset แต่เล่นอยู่ในเกมแบบ Infinite Game ไม่นานคุณจะพบว่าคุณติดหล่มอยู่ในการต่อสู้ที่ต้องต่อสู้ไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ต้องเสียคนและทรัพยากรอย่างต่อเนื่องเช่นกันเพื่อทำให้ตัวเองอยู่ในเกมต่อไป ซึ่งนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับอเมริกา ขณะที่คนอเมริกันพยายามต่อสู้เพื่อ “ชัยชนะ” แต่คนเวียดนามกลับต่อสู้เพื่อ “ชีวิต” และแน่นอนว่าถ้าดูจากรูปเกมแบบนี้แล้ว คงจะยากที่อเมริกาจะสามรถครองเกมได้เหนือกว่า ซึ่งสุดท้ายแล้วสิ่งที่ทำให้สงครามนี้สิ้นสุดลงไม่ใช่คำว่า แพ้ หรือ ชนะ แต่กลับเป็นการโดนกดดันจากคนอเมริกันที่ไม่สามารถสนับสนุนการส่งคนไปต่อสู้ได้อีก รวมถึงค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่วในสงครามที่อยู่ไกล

ดังนั้นอเมริกาจึงไม่ได้แพ้สงครามเวียดนาม แต่อเมริกากลับท้อและหมดทรัพยากรในการสู้ต่อ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงถูกกดดันให้ต้องออกจากเกม

จากทั้งหมดที่อ่านมาจะพบว่า ถ้าเราเชื่อในความ “ไว้ใจ (trust)” ความ “ร่วมมือ (cooperation)” และการ “สร้างสรรค์สิ่งใหม่ (innovation)” มีวิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้นั่นคือ การเรียนรู้วิธีการเล่นเกมธุรกิจด้วย Infinite mindset

Lead with an Infinite Mindset

3 หัวใจสำคัญที่เราควรคำนึงถึงเมื่อต้องเป็นผู้นำ

  1. เราไม่สามารถเลือกได้ว่า เกมต่าง ๆ ที่มีอยู่นั้นเป็นเกมที่มีวันสิ้นสุด (finite) หรือเป็นเกมที่ไม่มีวันที่สิ้นสุด (infinite)
  2. แต่เราเลือกได้ว่า เราพร้อมจะเข้าไปร่วมเล่นในเกมเหล่านั้นหรือไม่
  3. และเมื่อเราพร้อมจะร่วมเกม เราสามารถเลือกได้ว่า เราจะเล่นเกมด้วย Finite mindset หรือ Infinite mindset

ผู้นำทุกคนที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนตัวเองให้มี Infinite mindset จะต้องฝึกฝนตัวเองกับ 5 สิ่งต่อไปนี้

  • ต้องมีเหตุและผลที่ดี (Just Cause)
  • ต้องสร้างทีมที่เชื่อใจกันได้ (Trusting Team)
  • ต้องเรียนรู้จากคู่แข่งที่มีคุณค่า (Worthy Rivals)
  • ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง (Prepare for Existential Flexibility)
  • ต้องกล้าที่จะเป็นผู้นำ (Demonstrate the Courage to Lead)
infinite game 5 essential practice

ทั้งนี้เราไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมดก็ได้ เราอาจจะเลือกที่จะฝึกฝนแค่บางสิ่งก็ได้ เช่น เราอาจจะฝึกออกกำลังกายแต่เราก็ยังไม่กินผักแบบนี้เป็นต้น ถ้าเราเลือกที่จะฝึกสิ่งไหน เราก็จะได้ผลลัพท์ที่ดีจากสิ่งนั้น ๆ แน่นอนว่า ถ้าเราฝึกทั้งหมด ทำทั้งหมด มันจะทำให้คุณได้ทุกสิ่ง อย่างไรก็ตาม ถ้าอยากให้องค์กรของเราพร้อมสำหรับการต่อสู้ใน Infinite Game เราก็ต้องทำให้ได้ทั้งหมดทุกข้อ

ถ้าเราเลือกที่จะมี Infinite mindset มันจะทำให้เรารู้สึกมีพลังที่จะทำงานในทุก ๆ เช้า รู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในที่ทำงาน และรู้สึกมีความสุขแบบอิ่มเอมใจในสิ้นวัน และถ้าถึงเวลาที่เราต้องออกจากเกม เราจะสามารถหันหลังกลับมามองสิ่งที่เราทำและพูดว่า “ฉันได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า” ที่สำคัญไปกว่านั้น เมื่อเรามองไปข้างหน้า เราจะพบว่า มีคนอีกจำนวนมากที่เราได้ส่งต่อแรงบันดาลใจเหล่านี้ และพวกเขาจะสามารถสานต่อทุกอย่างให้ดีขึ้นต่อไปได้ โดยไม่มีเรา

จบบทที่ 1 …

ถ้าอ่านแล้วชอบ สามารถติดตามได้ทาง facebook.com/GengSittipong ครับ
แปลโดย www.GengSittipong.com

Up Next:

Leadership2020

Leadership2020