Omotenashi ปรัญชาของความใส่ใจแบบญี่ปุ่น

Omotenashi ปรัญชาของความใส่ใจแบบญี่ปุ่น
ไม่แน่ใจว่าผู้อ่าน blog เคยได้ยินคำนี้ไหมครับ “Omotenashi” หรืออ่านเป็นไทยว่า “โอโมเตนาชิ” ผมได้ยินคำนี้ครั้งแรกจากทีมงานของผมเองที่ได้มีโอกาสไปฟังคุณ Mike Peng จาก IDEO Tokyo มาเล่าให้ฟังถึงการใช้หลักการ Omotenashi ในการออกแบบสินค้า และธุรกิจ

จนกระทั่งเมื่อวันก่อนผมเองได้มีโอกาสได้ไปร่วม session เล็ก ๆ แต่ใกล้ชิดมาก ๆ ที่มีหัวข้อว่า “Omotenashi” นำโดยคุณ อแมนดา คนญี่ปุ่นที่มาอาศัยอยู่เมืองไทยได้นานกว่า 8ปี และคุณตุ๊กตาผู้จัดงาน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านความรู้ วัฒนธรรมและภาษาญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ซึ่ง Session ที่ว่านี้ทำให้ผมได้รู้จักกับคำว่า “Omotenashi” มากขึ้น

Omotenashi มาจากคำสองคำ คำแรกคือ “Omote” ซึ่งแปลว่า หน้า หรือ ด้านหน้า, สิ่งที่อยู่ด้านหน้า, Public Face ส่วนคำว่า “Nashi” แปลว่า ไม่มี รวมกันสองคำหมายถึง การไม่มีหน้าไม่มีหลัง ไม่มีปิดบัง การทำอะไรโดยไม่มีวาระซ่อนเร้น ทำจากก้นบึ้งของหัวใจ

เพียงแค่ความหมายของคำก็น่าจะทำให้เราพอเข้าใจแล้วใช่ไหมครับว่า Omotenashi คืออะไร การที่เราทำอะไรให้ใคร โดยนึกถึงสิ่งที่เขาจะได้รับ สิ่งที่เขารู้สึก ทำด้วยความจริงใจโดยไม่มีวาระซ่อนเร้น เป็นหัวใจของ “Omotenashi”

ยกตัวอย่างเช่น การพาลูกค้าไปทานข้าว

เราเลือกร้านที่บริการดี ราคาสูง รสชาตอร่อย ก็เพราะว่าเราต้องการดูแลลูกค้าอย่างดี ทั้งนี้เพราะเราต้องการให้เขาเซ็นซื้อสินค้า หรือโปรเจคใหม่ นี่ไม่ใช่ Omotenashi เพราะเราทำไปโดยมีผลประโยชน์ซ่อนเร้น

พนักงานเสิร์ฟชา ตามที่ลูกค้าสั่ง, คนตัดผมได้ถูกใจลูกค้า เหล่านี้อาจจะไม่ใช่ Omotenashi

แต่การปรับอุณหภูมิน้ำชาให้ลูกค้า เพราะกลัวว่าน้ำชาที่ร้อนเกินไปจะลวกปากหรืออาจจะเป็นอันตรายได้ หรือการแนะนำลูกค้าว่าทรงผมที่เขาเลือกมานี้ อาจจะไม่เหมาะกับเขา เหล่านี้คือ Omotenashi

คุณอแมนดาพูดถึง Omotenashi ในสองรูปแบบ แบบแรกคือ Active Omotenashi และแบบที่สองคือ Passive Omotenashi

Active Omotenashi คือการทำให้ผู้อื่นด้วยความจริงใจ ส่วน Passive Omotenashi คือการทำให้ผู้อื่นเพราะหน้าที่การงาน เพราะจำเป็นต้องทำ ดังนั้นเมื่อเราจะทำอะไรให้ผู้อื่น เราควรทำอย่างจริงใจ ไม่ใช่ทำด้วยหน้าที่

แล้วเราจะทำงานอย่างไรถึงจะเป็น Active Omotenashi?

คุณตุ๊กตาพูดถึงอีกคำพูดหนึ่งซึ่งเป็น Mindset หรือความคิดของการจะได้มาซึ่ง Omotenashi นั่นคือคำว่า “ichigo ichie”

“ichigo ichie” อ่านว่า “อิชิโกะ อิชิเอะ” หมายถึง Once in a life time experience หรือหากเราจะได้พบกันเพียงแค่ครั้งเดียว

ถ้าคุณลองนึกดูสิว่า หากคุณจะได้ทำสิ่งนี้เพียงแค่ครั้งเดียว หากคุณจะได้พบกับคนคนนี้เพียงแค่ครั้งเดียว หรืออาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณจะได้พบเขา คุณจะทำอะไรให้เขาบ้าง

ถ้าคิดแบบคนไม่เอาถ่านคือ “อ่ออ.. เจอกันครั้งเดียว งั้นทำอะไรแย่ ๆ ก็ได้เพราะครั้งหน้าเราก็จะไม่ได้พบเค้าอีกแล้ว”

ถ้าจะคิดเช่นนั้นก็แล้วแต่

แต่ถ้าลองคิดว่าคน ๆ นั้นเป็นคนที่คุณรู้จักล่ะ?

ถ้าคน ๆ นั้นเป็นคุณพ่อ คุณแม่ เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นแฟน ของคุณล่ะ?

คุณจะทำอะไรให้เขา?

ichigo ichie จึงเป็นแนวความคิดที่พูดถึงความไม่เที่ยงของมนุษย์และนำสิ่งนี้มาปรับความคิดของเราให้เราเข้าใจว่า ถ้าเราจะได้พบเขาเพียงครั้งเดียว หรือครั้งสุดท้าย แล้วเราจะทำอะไรให้เขาบ้าง

พอผมให้คุณลองนึกถึงคนที่บ้าน คนใกล้ชิด ความคิดอีกอย่างหนึ่งอาจจะเริ่มปรากฎอยู่ในสมองของคุณตอนนี้..

Omotenashi สามารถใช้กับเรื่องส่วนตัวได้ด้วย?

แน่นอน Omotenashi ไม่ใช่หลักการที่ใช้เฉพาะกับเรื่องงาน การออกแบบ และธุรกิจเท่านั้น ความเข้าใจในความคิดผู้อื่น เข้าใจในความรู้สึกของผู้อื่นนั้น สามารถใช้กับอะไรก็ได้ที่มากกว่าธุรกิจ อาจจะเป็นความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว หรือแม้แต่การเห็นอกเห็นใจ เข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่เราไม่รู้จักกันเลยก็ตาม

ผมได้ให้ความเห็นในงานว่า ส่วนตัวคิดว่า ถ้าเรามีเป้าหมายที่ใหญ่กว่าตัวเราเองแล้ว นั่นล่ะ จะทำให้เราคิดถึงคนอื่นมากกว่าตัวเอง เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากกว่าตัวเอง ทำอะไรให้กับคนอื่นมากกว่าแค่เป็นหน้าที่การงาน

เมื่อคุณอยากทำให้เด็กกำพร้าที่มูลนิธิรู้สึกดี เมื่อคุณอยากทำให้ลูกค้ามีความสุข เมื่อคุณต้องการพัฒนาการศึกษาไทย เมื่อเป้าหมายของคุณมันยิ่งใหญ่กว่า การรับเงินเดือน การทำงานให้เสร็จไปวัน ๆ เมื่อนั้นผมเชื่อว่า Omotenashi จะบังเกิดขึ้นมาเอง

Tokyo Olympics

Pompetta Disfunzione Erettile

2020 กับ Omotenashi

Tokyo Olympics 2020 กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า (2020) คุณ Christel Takigawa กรรมการผู้จัดงานได้พูดถึงคำว่า “Omotenashi” เป็น keyword สำคัญของการจัดงาน Olympics ในครั้งนี้

แน่นอนว่าเมื่อมีงานโอลิมปิกเกิดขึ้น ผู้คนจะหลั่งไหลมาที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในโตเกียว การที่รัฐบาลจะสอนภาษาอังกฤษให้กับคนญี่ปุ่นเพื่อให้พวกเขาสามารถสื่อสารและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้นั้น จะเรียกว่าต้องใช้ปาฏิหารย์ก็ว่าได้

แต่ด้วยไอเดียของคำว่า “Omotenashi” คนญี่ปุ่นสามารถดูแล และ take care นักท่องเที่ยวได้แม้ว่าจะไร้ซึ่งความรู้ภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น ถ้านักท่องเที่ยวมาถามทาง แล้วคนญี่ปุ่นไม่สามารถที่จะสื่อสารและบอกทางได้ แต่พวกเขาสามารถพานักท่องเที่ยวเหล่านั้นไปยังที่หมายได้


ส่วนตัวผมชอบในไอเดีย Omotenashi เพราะมันเข้ากันกับคำสอนของอีกหลายที่ ไม่ว่าจะเป็น เดล คาเนลกี้ ที่บอกว่าการให้ความสำคัญกับผู้อื่นจะทำให้คุณกลายเป็นที่รัก เหล่านี้เป็นต้น

ถือว่าการได้ไปนั่งร่วม session เล็ก ๆ แบบนี้เป็นประสบการณ์ที่ความจริงแล้วผมเองไม่ค่อยได้ร่วมเท่าไหร่ แต่กลับรู้สึกว่าได้รับความรู้และพลังมากมาย

ไว้คราวหน้ามีเรื่องอะไรดีดีอีกจะนำกลับมาเล่าให้ฟังกัน

และหวังว่าทุกท่านจะอยากนำหลักการของ Omotenashi และ ichigo ichie ไปใช้ .. หากไม่ใช้กับงาน ใช้กับคนรอบข้าง ก็น่าจะมีประโยชน์เป็นอย่างมากเลยครับ

Up Next:

Mindshift #4/52 “ช่างแม่ง”

Mindshift #4/52 “ช่างแม่ง”