Mindshift #3/52 “มีสองวิธีที่จะหาเงินล้าน 1 เก็บเงินคนละบาทล้านคน และ 2 เก็บเงิน 1 คน 1 ล้านบาท”

Mindshift #3/52 “มีสองวิธีที่จะหาเงินล้าน 1 เก็บเงินคนละบาทล้านคน และ 2 เก็บเงิน 1 คน 1 ล้านบาท”
ผมได้ยินคำนี้ครั้งแรกจากเพื่อนคนหนึ่งที่ผมเรียกเค้าว่า “อาจารย์เดฟ”

เพราะเขาชื่อเดฟ และเขาก็เป็นอาจารย์ ไม่มีอะไรซับซ้อนมากกว่านั้น วันนั้นเราได้รับเชิญไปบรรยายร่วมกันในงานที่จัดขึ้นสำหรับสตาร์ทอัพและผู้ที่สนใจทำธุรกิจ ผมจำไม่ได้ว่าเนื้อหาที่คุยกันในวันนั้นเป็นเรื่องอะไร แต่ประโยคนี้เป็นประโยคเดียวที่ผมจำได้ในวันนั้น

มีสองวิธีที่จะหาเงินล้าน วิธีที่หนึ่งเก็บเงินคนละบาทล้านคน และวิธีที่สองเก็บเงิน 1 คน 1 ล้านบาท

ผมจำได้ว่าอาจารย์เดฟเป็นคนพูด และเขายังบอกอีกเช่นกันว่าเขาไม่ใช่เจ้าของประโยคทองประโยคนี้ แต่มันเป็นประโยคที่ทำให้ผมต้องจดจำและกลับมานั่งคิดอีกหลายรอบ

ขณะนึกทบทวน ผมก็นั่งคิดว่า ทุกวันนี้ผมเก็บเงินลูกค้าแบบไหน เก็บคนละบาทล้านคน หรือเก็บคนเดียวหนึ่งล้านบาท

ผมเก็บเงินลูกค้าคนเดียวหนึ่งล้านบาท

งานของลูกค้าที่ผมได้ทำแต่ละเจ้าล้วนมีมูลค่าสูง แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกงานจะได้รับเงินล้านบาท บางโปรเจคก็ได้แค่หลักแสน แต่ก็มีอีกหลายโปรเจคที่ได้มากกว่าหนึ่งล้าน แต่ที่แน่นอนก็คือ น้อยครั้งนักที่ผมจะเก็บเงินลูกค้าแค่หลักหมื่น ส่วนหลักพันนั้นไม่ต้องพูดถึง ผมไม่เคยรับงานราคาหลักพันเลย

ไม่ใช่ว่าผมดูถูกเงินน้อย หรือหยิ่งแต่อย่างใด แต่เหตุที่ไม่รับงานโปรเจคหลักพันเพราะด้วยเหตุผลสองประการ

ประการแรกคือ “ได้ไม่คุ้มเสีย”

ผมทำงานที่ต้องเน้นความเข้าใจในตัวลูกค้า งานออกแบบ งานดีไซน์ งานสร้างระบบ งานเหล่านี้ถ้าไม่เข้าใจในตัวลูกค้าแล้วก็ยากที่จะทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี ซึ่งการจะเข้าใจลูกค้าได้นั้น ผมจะต้องเดินทางไปพบลูกค้าอย่างน้อย 2 ครั้ง รวมการวิ่งไปวางบิล ซึ่งถึงแม้ผมจะไม่ได้วางเองก็อีก 1 ครั้ง รับเงินอีก 1 ครั้ง

ส่วนตัวผมเองเลยลองรับงานราคาถูก เพราะไม่อยากทิ้งเงินไปต่อหน้าต่อตาแม้ว่าจะจำนวนน้อยก็ตาม แต่กลับค้นพบว่า เมื่อเรามีความคิดว่างานนี้ราคาน้อย เราจะให้เวลากับมันน้อย ทุ่มเทกับมันไม่มากเท่างานที่ได้ราคาดี ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นงานที่ไร้คุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งฝั่งผมและลูกค้า

ประการที่สองคือ “ไม่ถนัด”

คนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนชอบทำงานแบบหนึ่ง บางคนก็ชอบทำงานอีกแบบ ผมเองชอบทำงานกับลูกค้าบริษัทใหญ่ เพราะชอบท้าทายตัวเอง บริษัทใหญ่มักมีโจทย์ยาก ๆ ท้าทาย ตื่นเต้น บางครั้งเราจะได้รับงานที่เราไม่เคยทำ ไม่มีความชำนาญ และต้องค้นหาข้อมูลความรู้ รวมถึงผู้ร่วมงานหน้าใหม่ที่ไม่เคยทำงานด้วยกันมาก่อน

ขณะที่บางคนอาจจะถนัดการทำงานกับบริษัทเล็ก หรือลูกค้ารายย่อย เพราะรู้สึกว่าจบง่าย รายละเอียดไม่มาก

ความจริงคำว่า “เก็บเงินคนละบาทหนึ่งล้านคน” อาจจะไม่ได้หมายถึงคนละบาทขนาดนั้น แต่อาจจะหมายถึงการเก็บเงินจำนวนน้อย เช่น คนละยี่สิบบาท ห้าสิบบาท ร้อยบาท

ผมเห็นสตาร์ทอัพและนักธุรกิจหลายรายชอบเก็บเงินคนละบาทเช่นนี้แล้วรวยไม่รู้เรื่องก็มีอยู่หลายราย บริษัทบุญเติม บริษัทรับโอนเงิน จ่ายเงิน เติมเงิน ผ่านตู้เล็ก ๆ ที่มีอยู่ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป ก็ถือเป็นบริษัทที่เก็บเงินประเภทที่ผมเรียกว่า “เก็บเงินคนละบาทหนึ่งล้านคน” เก็บเงินน้อย ๆ แต่ได้จำนวนมาก ๆ

ซึ่งผลลัพธ์ของการ “เก็บเงินคนละบาทหนึ่งล้านคน” ของบุญเติมทำให้พวกเขาร่ำรวยมหาศาลอย่างที่เห็น

ดังนั้นเมื่อมีสตาร์ทอัพ หรือคนที่ต้องการทำธุรกิจมาพูดคุย ขอคำปรึกษากับผม ผมจะบอกให้เขาเล่าถึงโมเดลการทำธุรกิจ ช่องทางการหารายได้ การคิดเงิน และค่าใช้จ่ายให้ฟัง จากนั้นผมมักจะอธิบายเรื่องการเก็บเงินทั้งสองวิธีนี้ให้พวกเขาเข้าใจ

เพราะบางคนอาจจะเคยได้ยินมาว่า “เก็บเงินคนละบาทหนึ่งล้านคน” ก็ได้ 1 ล้านบาทแล้ว ง่ายจะตาย แค่ 1 บาทใคร ๆ ก็จ่ายได้ แต่เอาเข้าจริง ๆ สำหรับคนที่ไม่ชอบ ไม่ถนัดอย่างผม 1 ล้านคน ก็หมายถึง 1 ล้านปัญหาด้วยเช่นกัน ถ้าคุณไม่มีระบบให้คำปรึกษา การแนะนำ การ support ที่ดี ธุรกิจอาจจะล้มไม่เป็นท่าได้

ขณะเดียวกัน ถ้าคุณเก็บเงินคนเพียงคนเดียวหนึ่งล้านบาท คุณอาจจะต้องดูแลคนแค่คนเดียวง่าย ๆ สบาย ๆ แต่ข้อเสียของมันกลับมีมิใช่น้อย นอกจากเรื่องความท้าทายที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้น อีกเรื่องคือความเสี่ยงของเงินหนึ่งล้านบาทที่ฝากไว้กับลูกค้ารายเดียว วันหนึ่งเมื่อเขาเบื่อ เขาอยากจะลาจาก หรือมีเหตุจำเป็นให้ต้องเปลี่ยน นั่นคือหนึ่งล้านที่กำลังจะเสียไป

แต่ไม่ว่าคุณจะทำเงินล้านได้ด้วยวิธีไหน ผมคิดว่าทั้งสองวิธีไม่มีวิธีไหนง่ายที่สุด และวิธีไหนยากที่สุด แต่สุดท้ายจะอยู่ที่ความถนัด ความชอบของผู้ประกอบการอย่างคุณ และความพยายาม ความทุ่มเท ความรับผิดชอบ นั่นล่ะคือสูตรแห่งความสำเร็จของการได้เงินล้าน

Up Next:

คุณอาจจะเป็นทะเลสำหรับใครบางคน

คุณอาจจะเป็นทะเลสำหรับใครบางคน